ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทำให้ธุรกิจประเภทต่างๆ มีการขยายตัว และมีลักษณะที่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายธุรกิจที่พร้อมด้วยความรู้ในทางธุรกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เล็งเห็นถึงความต้องการของสังคม ดังนั้นในสมัยที่ศาสตราจารย์วิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้พยายามเสนอและผลักดันให้มีการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้น ศาสตราจารย์ยุกต์ ณ ถลาง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นชอบด้วยได้มีมติให้มหาวิทยาลัยพิจารณาโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ โดยเน้นทางกฎหมายธุรกิจฉีกแนวไปจากสถาบันอื่นๆ
ต่อมาในสมัยที่นายสุวิทย์ หวั่งหลี ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการหลักสูตรขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีอาจารย์ประสาทศิลป์ บุญท้าว เป็นประธานกรรมการและประธานโครงการฯ และได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อระดมความคิดเรื่อง “ทิศทางของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ในวันที่ 26 ตุลาคม 2537 โดยมีนักกฎหมายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสำนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมการสัมมนา ทั้งนี้เพื่อให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดหลักสูตรที่เหมาะสมสามารถตอบสนองให้สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศอย่างสูงสุด และเป็นฐานกำลังทางกฎหมายธุรกิจที่สำคัญของสังคมไทยต่อไป
สภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการประชุมครั้งที่ 133 เดือนธันวาคม 2538 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นนับเป็นคณะที่ 8 และเปิดสอนหลักสูตรตามที่ได้เสนอไว้ ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม อธิการบดีในขณะนั้น จึงได้ประกาศจัดตั้งคณะฯ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ 15/2539 จัดตั้งคณะฯ ขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2539 ถือเป็นวันที่คณะนิติศาสตร์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีคำสั่งให้อาจารย์ประสาทศิลป์ บุญท้าว เป็นผู้รักษาการคณบดีให้ดำเนินงานจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกำหนดการและเปิดสอนให้ทันภาคต้น ปีการศึกษา 2539
วันที่ 17 เมษายน 2539 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รับอนุญาตให้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตร์ได้ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา คณะนิติศาสตร์ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง คือ ศาสตราจารย์ ดร.มานะ พิทยาภรณ์ มาดำรงตำแหน่งคณบดี ซึ่งในอดีตนั้นท่านเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอดีตประธานกรรมการหลักสูตรสาขานิติศาสตร์ของทบวงมหาวิทยาลัย เป็นนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตคนแรกของคณะนิติศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายด้วย
วันที่ 1 มิถุนายน 2539 คณะนิติศาสตร์ได้เปิดเรียนและมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวนทั้งสิ้น 183 คน คัดเลือกจากผู้สมัคร 786 คน หลักจากนั้นก็ได้รับเกียรติจาก ดร.ชาญวิทย์ สุวรรณะบุณย์ ซึ่งจบนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเมืองกอง ประเทศฝรั่งเศส (Docteur en droit. Universite de Caen, France) เป็นกรรมการบริหารของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายคูแดร์ บราเธอร์ส จำกัด มาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ คนที่ 2 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2546
วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ถือเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งต่อคณะนิติศาสตร์ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความพร้อมทางวิชาการความพร้อมตามหลักสูตรด้านอาจารย์ประจำ อาจารย์พิเศษ ด้านตำราและห้องสมุด มีมาตรฐานสูงเท่ากับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ประกอบด้วยความพร้อมในด้านวิชาการ ด้านอื่น ๆ ที่จะเป็นส่วนช่วยเสริมกฎหมายธุรกิจ เช่น การบริหารธุรกิจ การบัญชี และเศรษฐศาสตร์
ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้ให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาแบบตลอดไป อันส่งผลให้บัณฑิตนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สามารถสวมครุยวิทยฐานะได้ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ได้ให้การรับรองวุฒิแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ตามหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 (อันเป็นปีที่มีบัณฑิตรุ่นแรกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จำนวน 41 คน เข้ารับประสาทปริญญาบัตร 39 คน)
วันที่ 19 ธันวาคม 2542 คณะฯ ได้เสนอขอเปิดการสอนหลักสูตรภาคค่ำ และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติเรื่องการขอเปิดหลักสูตรภาคค่ำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของทบวงมหาวิทยาลัย
วันที่ 4 เมษายน 2543 คณะกรรมการหลักสูตรนิติศาสตร์ ทบวงฯ ได้มาตรวจสอบความพร้อมด้านห้องสมุดเป็นครั้งสุดท้าย
วันที่ 12 เมษายน 2543 คณะกรรมการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สกอ.) มีมติอนุมัติหลักสูตรและการเปิดสอนภาคค่ำได้
วันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ทบวงฯ ได้ประทับตราอนุมัติให้ความเห็นชอบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดสอนภาคค่ำได้ นับเป็นการพัฒนาการที่รวดเร็ว และครบถ้วนในระดับปริญญาตรี ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีเศษที่ตั้งคณะฯ มา
ปัจจุบันคณะฯ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตให้มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดงาน โดยเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2555 รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรตลาดวิชา หลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรระดับปริญญาโทต่อไป