ประวัติความเป็นมา

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทำให้ธุรกิจประเภทต่างๆ มีการขยายตัว และมีลักษณะที่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายธุรกิจที่พร้อมด้วยความรู้ในทางธุรกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เล็งเห็นถึงความต้องการของสังคม ดังนั้นในสมัยที่ศาสตราจารย์วิโรจน์  เลาหะพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้พยายามเสนอและผลักดันให้มีการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้น ศาสตราจารย์ยุกต์ ณ ถลาง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นชอบด้วยได้มีมติให้มหาวิทยาลัยพิจารณาโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ โดยเน้นทางกฎหมายธุรกิจฉีกแนวไปจากสถาบันอื่นๆ

ต่อมาในสมัยที่นายสุวิทย์  หวั่งหลี ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการหลักสูตรขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีอาจารย์ประสาทศิลป์  บุญท้าว เป็นประธานกรรมการและประธานโครงการฯ และได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อระดมความคิดเรื่อง “ทิศทางของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ในวันที่ 26 ตุลาคม 2537 โดยมีนักกฎหมายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสำนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมการสัมมนา ทั้งนี้เพื่อให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดหลักสูตรที่เหมาะสมสามารถตอบสนองให้สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศอย่างสูงสุด และเป็นฐานกำลังทางกฎหมายธุรกิจที่สำคัญของสังคมไทยต่อไป

สภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการประชุมครั้งที่ 133 เดือนธันวาคม 2538 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นนับเป็นคณะที่ 8 และเปิดสอนหลักสูตรตามที่ได้เสนอไว้ ศาสตราจารย์เกริกเกียรติ  พิพัฒน์เสรีธรรม อธิการบดีในขณะนั้น จึงได้ประกาศจัดตั้งคณะฯ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ 15/2539 จัดตั้งคณะฯ ขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2539 ถือเป็นวันที่คณะนิติศาสตร์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีคำสั่งให้อาจารย์ประสาทศิลป์  บุญท้าว เป็นผู้รักษาการคณบดีให้ดำเนินงานจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกำหนดการและเปิดสอนให้ทันภาคต้น ปีการศึกษา 2539

วันที่ 17 เมษายน 2539 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รับอนุญาตให้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตร์ได้ตั้งแต่ภาคต้น ปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา คณะนิติศาสตร์ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง คือ ศาสตราจารย์ ดร.มานะ  พิทยาภรณ์ มาดำรงตำแหน่งคณบดี ซึ่งในอดีตนั้นท่านเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอดีตประธานกรรมการหลักสูตรสาขานิติศาสตร์ของทบวงมหาวิทยาลัย เป็นนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตคนแรกของคณะนิติศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายด้วย

วันที่ 1 มิถุนายน 2539 คณะนิติศาสตร์ได้เปิดเรียนและมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวนทั้งสิ้น 183 คน คัดเลือกจากผู้สมัคร 786 คน หลักจากนั้นก็ได้รับเกียรติจาก ดร.ชาญวิทย์  สุวรรณะบุณย์ ซึ่งจบนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเมืองกอง ประเทศฝรั่งเศส (Docteur en droit. Universite de Caen, France) เป็นกรรมการบริหารของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายคูแดร์ บราเธอร์ส จำกัด มาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์  คนที่ 2 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2546

วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ถือเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งต่อคณะนิติศาสตร์ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความพร้อมทางวิชาการความพร้อมตามหลักสูตรด้านอาจารย์ประจำ อาจารย์พิเศษ ด้านตำราและห้องสมุด มีมาตรฐานสูงเท่ากับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยอื่นๆ  ทั้งของรัฐและเอกชน ประกอบด้วยความพร้อมในด้านวิชาการ ด้านอื่น ๆ ที่จะเป็นส่วนช่วยเสริมกฎหมายธุรกิจ เช่น การบริหารธุรกิจ การบัญชี และเศรษฐศาสตร์

ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้ให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาแบบตลอดไป อันส่งผลให้บัณฑิตนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สามารถสวมครุยวิทยฐานะได้ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็ได้ให้การรับรองวุฒิแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ตามหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 (อันเป็นปีที่มีบัณฑิตรุ่นแรกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จำนวน 41 คน เข้ารับประสาทปริญญาบัตร 39 คน)

วันที่ 19 ธันวาคม 2542 คณะฯ ได้เสนอขอเปิดการสอนหลักสูตรภาคค่ำ และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติเรื่องการขอเปิดหลักสูตรภาคค่ำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของทบวงมหาวิทยาลัย

วันที่ 4 เมษายน 2543 คณะกรรมการหลักสูตรนิติศาสตร์ ทบวงฯ ได้มาตรวจสอบความพร้อมด้านห้องสมุดเป็นครั้งสุดท้าย

วันที่ 12 เมษายน 2543 คณะกรรมการสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สกอ.) มีมติอนุมัติหลักสูตรและการเปิดสอนภาคค่ำได้

วันที่ 1 พฤษภาคม 2543 ทบวงฯ ได้ประทับตราอนุมัติให้ความเห็นชอบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดสอนภาคค่ำได้ นับเป็นการพัฒนาการที่รวดเร็ว และครบถ้วนในระดับปริญญาตรี ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีเศษที่ตั้งคณะฯ มา

ปัจจุบันคณะฯ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตให้มีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาดงาน โดยเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2555 รวมถึงได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดหลักสูตรตลาดวิชา หลักสูตรประกาศนียบัตร และหลักสูตรระดับปริญญาโทต่อไป

เครือข่ายพันธมิตร

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.)
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (กกพ.)
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
International Institute of Communications
สพธอ. (ETDA)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ)
สมาคมการค้ายาสูบไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย